MOM: ลงทุนอย่างไร? ให้เกษียณได้ก่อนอายุ 40 ปี (Part 1)
Posted On March 13, 2021
#สรุปจากClubhouse
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซาร่ามีโอกาสได้เข้าฟัง Clubhouse จัดโดย KBank Live ของกสิกรไทย มีกูรูผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่าน และ Moderator โดยพี่หนุ่ยแบไต๋ หัวข้อนี้ดีมาก ๆ ค่ะ เลยอยากแชร์ให้เพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เข้าฟัง ได้มีความรู้ไปด้วยกัน สำหรับโพสต์นี้ จะขอสรุป Session 90 นาทีแรก ที่เป็นการสัมภาษณ์กูรูทั้ง 4 ท่าน อาจจะยาวหน่อย แต่คัดมาแต่เนื้อให้แล้วล้วน ๆ … อ่านจบแล้วถ้าดีอย่าลืมกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ ^^
สำหรับ Session นี้ มี 4 กูรูมาให้ความรู้ได้แก่
- คุณนาวิน อินทรสมบัติ ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (Chief Investment Officer; CIO) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกองทุน และการลงทุนในต่างประเทศ
- คุณกวี ชูกิจเกษม ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้น
- คุณวีระพล บดีรัฐ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกสิกรไทย กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กูรูด้านการลงทุน เป็นเจ้าของหนังสือการวางแผนเกษียณสำหรับคนมีลูก โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง – Certified Financial Partner (CFP) ตำแหน่งกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงิน และดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
แต่ละท่านก็ได้มาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ภาพรวมเศรษฐกิจ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง เช่นหุ้น และ Crypto currency มาสรุปกันทีละหัวข้อเลยนะคะ
.
ภาพรวมเศรษฐกิจ
- วิกฤตโควิดทำให้หุ้นส่วนใหญ่ในตลาด มีราคาต่ำลง เป็นโอกาสให้นักลงทุน (ที่มีเงินเย็น) ได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีต้นทุนที่ถูกลง
- เทรนด์โลกกำลังส่งเสริม Health Care, Clean Energy Product ฉะนั้นเราควรมองหาการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ sector เหล่านี้มีโอกาสเติบโตสูง
- เป้าหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก โฟกัสที่การทำให้การจ้างงานกลับมาปกติก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ จะดีตามมา
- ทุก ๆ 100 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ Currency และตอนนี้ USD ก็ครบร้อยปีแล้ว การมาของ Bitcoin, Libra และ Crypto Currency อื่น ๆ แต่ละเจ้าก็มองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินตรงนี้จึงสร้าง Coin ขึ้นมา ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่ต้อง convert แบบสกุลเงินต่างประเทศในปัจจุบันที่เราใช้กัน
.
แนวคิดการลงทุน
- ไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือแย่ ในทุก ๆ วิกฤตย่อมมีโอกาส แต่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ทีมองหา
- นักลงทุนที่ร่ำรวยบนโลกนี้ก็รวยจากสไตล์การลงทุนที่ตัวเองถนัด เช่น Warren Buffet เป็น VI ส่วน George Soros เป็นสาย Speculator (เก็บกำไรจากการเทรดสั้น) แต่ละคนก็กระจายถือหุ้นไม่ได้ถือแค่หุ้นบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง
- กองทุนเป็นที่เรียนรู้ที่แรกสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาในการศึกษาหุ้นเป็นรายตัว
- การลงทุนทองคำ, Crypto Currency และของสะสม เช่น รถ กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา รองเท้า ฯลฯ ยังถือเป็นทางเลือกและมีความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับความชอบ ให้แบ่งเงินบางส่วนเท่าที่ยอมรับว่าจะสูญเสียได้ อย่าทุ่มหมดตัว
- อย่าทุ่มเงินไว้ในตะกร้าใบเดียว ให้กระจายความเสี่ยง เป็นหลาย ๆ Sector เช่น สุขภาพ อสังหา ท่องเที่ยว ธนาคาร เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของพอร์ต
- การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ต้องดูว่าประเทศนั้น ๆ โดดเด่นอุตสาหกรรมไหน เช่นอเมริกา คือเด่นด้านเทคโนโลยี ยุโรปเด่นด้าน Health Care และ จีน เด่นด้าน Retail โดยเฉพาะ Technology Retail
- ผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นของคู่กัน ถ้าเข้าใจความเสี่ยง เราจะอดทนถือในกรอบความเสี่ยงนั้น แล้วสุดท้ายมันจะก็กลับตัว หุ้นมีขึ้นมีลง แต่ส่วนใหญ่มักทนไม่ไหว ขายไปก่อนแล้วมันก็กลับตัว ถ้าอดทนได้จริง ๆ จากเงินไม่กี่แสน ก็กลายเป็นเงินสิบกว่าล้านได้
- อย่าพยายามตามหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพียง 0.5% ในสินทรัพย์ตัวเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ที่ไหนเงินฝากมากกว่าย้ายเงินไปที่นั่น ซึ่งมันให้ผลต่างแค่นิดเดียว มีเงินล้านนึงก็ได้แค่ต่างกันมากขึ้นแค่ 5000 บาท เราจะไปตามหาแบบนั้นทำไม?
- ก่อนลงทุน ควรมองในเรื่องการเก็บเงินก่อน ถ้าเก็บเงินไม่อยู่ อย่าคิดไปถึงเรื่องลงทุน เราต้องมองเรื่องเงินการออมและการใช้จ่ายเป็นเรื่องเดียวกัน หลายคนมีความสุขที่ได้ช้อปปิ้ง 5000 แต่พอตอนเก็บเงินได้น้อยกว่าเพื่อน 5000 กลับเครียด.. ถ้าลดเรื่องสุรุ่ยสุร่ายลงได้ นั่นก็ทำให้เรามีเงินเก็บไปลงทุนมากขึ้น
- มองการลงทุนให้เป็นเรื่องสนุก สร้าง Challenge เช่นเปิด 2 พอร์ต แข่งกับกองทุน เพื่อจะได้เป็นการศึกษาแนวคิด บลจ. ทางอ้อม ว่าทำไมมีการปรับพอร์ตไปตัวนั้นตัวนี้ และเลือกลงตามหุ้นตัวหลัก ๆ สุดท้ายจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่า เราก็ได้ความรู้ไปด้วย
- ต้องรู้จักกฎ 72 คือ ถ้าลงทุนแบบเอากำไรทบต้นไปเรื่อย ๆ พอร์ตจะโตเป็น 2 เท่าในเวลากี่ปี ให้เอา 72 ตั้ง หารด้วยผลตอบแทน เช่น 10% ต่อปี เอา 72 หาร 10 พอร์ตจะโตเป็น 2 เท่า ใช้เวลา 7.2 ปี
- มือใหม่ถ้ายังไม่รู้อะไร ก็ให้กระจายเงินด้วยหลัก 3D คือ
- Divide : แบ่งเงินเอาไว้ยามฉุกเฉิน
- Diversify : กระจายการลงทุน ถ้าทุนน้อย ก็ลงกองทุนดีกว่า
- DCA : มีวินัยในการแบ่งเงินมาลงทุนทุกเดือน เช่น Provident Fund ให้บริษัทแบ่งเงินเดือนเราไปลงทุนทุกเดือนก็เป็นการ DCA อย่างหนึ่ง
.
แนวคิดการวางแผนเกษียณ
- เกษียณ หมายถึง การที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เป็น Passion โดยที่เราไม่ต้องกังวลเรื่องการหารายได้ ซึ่งก็คือ อิสรภาพทางการเงิน
- ถ้าอยากเกษียณเร็ว เราหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ได้ แต่ต้องลงทุนอย่างเข้าใจ รู้ความเสี่ยง
- อย่าไปวางแผนเกษียณในตอนที่อายุมากแล้ว เพราะนั่นคือการบังคับให้ถูกเกษียณ แต่เราเลือกได้ว่าจะเกษียณตอนไหน
- ต้องคำนึงคุณภาพชีวิต “3 อยู่” คือ จะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร และอยู่กับใครตอนที่เกษียณไปแล้ว เพื่อจะดูว่า เราจะใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ ถ้าอยากจะใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบคนเมือง คือกินใช้เดือนละ 30,000 บาท ต่อไปอีก 45 ปี ตั้งแต่อายุ 41-85 เนื่องจากอายุเฉลี่ยคนไทยสูงขึ้นเข้าสู่ aging society อย่างน้อย ๆ ต้องมีเงินเก็บ 22 ล้านแบบรวมเงินเฟ้อปีละ 3% ด้วย
- ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ เงินทุน ระยะเวลาเก็บ และ อัตราผลตอบแทน ถ้ามีเวลาเก็บเงิน 20 ปี เริ่มจากปีละ 2 หมื่นบาท เก็บเพิ่มปีละ 5% ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 10% จะทำให้เรามีเงิน 22 ล้านภายในเวลา 20 ปี
.
แนวคิดการบริหารความเสี่ยง
- การลงทุนเพื่อเกษียณ ย่อมมาคู่กับการบริหารความเสี่ยง หรือ Wealth Protection คือ การทำให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณของเราไม่ต่างกับคุณภาพชีวิตตอนที่ยังไม่เกษียณ
- ไม่ว่าจะลงทุนเสี่ยงมากหรือน้อย แต่ถ้าเรายังมีภาระ ก็ควรปิดความเสี่ยงแต่ต้น โดยอย่างน้อยควรมีประกันชีวิต และค่อยหาทางเลือกการลงทุน ซึ่ง Unit Link ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
- Unit Link ต่างจากประกันชีวิตตรงที่ประกันชีวิตเราเลือกกองทุนไม่ได้ แต่ Unit Link นักลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่สนใจได้ อีกอย่างคือเมื่อเดือดร้อนเราไม่ต้องกู้เสียดอกเบี้ยแบบประกันชีวิต แต่เราสามารถขายหน่วยลงทุนออกมาได้
- การแบ่งเงินลงทุนขั้นพื้นฐาน ก็ควรจะมี RMF, SSF, Provident Fund เพราะจะได้ถึง 2 เด้ง คือ ผลตอบแทนหลังเกษียณ และช่วยลดหย่อนภาษีด้วย
สรุป
- ลงทุนอาจไม่ทำให้เรารวย แต่เราถ้าเราไม่ลงทุน เราจะจนแน่นอน
- ลงทุนไว ลงทุนนาน และใช้หลักดอกเบี้ยทบต้น อย่างมีวินัย จะทำให้พอร์ตเติบโตไว
- เป้าหมายในชีวิตสำคัญที่สุด บางทีหา 100 ล้าน ก็ไม่ต่างกับชีวิตคนมีหมื่นล้าน เพราะมีหมื่นล้าน ต่างกันก็แค่มี Private Jet กับเครียดมากขึ้นเพราะกลัวตกจากหลักหมื่น
- อย่ารอให้อายุเป็นตัวบังคับให้เราเกษียณ (60 ปี) เราเลือกได้ว่าจะเกษียณตอนไหน..
- TTT = ทำทันที อย่ารีรอ :))
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบค่ะ ^^
รอติดตามชมใน Part ต่อไป จะเป็นเรื่องของ Part ถามตอบนะคะ ..