fbpx

Basic Gold Spot & Forex

คอร์สพื้นฐาน การทำกำไรในตลาดทองคำและค่าเงิน เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น

Intensive Demand & Supply

คอร์สการหา Demand Supply Zone และเทคนิคการนำไปใช้งาน

Free Trading Tools

แจกฟรี! EA โรบอทช่วยเทรดทำกำไร และ Indicators

MOM: ลงทุนอย่างไร? ให้เกษียณได้ก่อนอายุ 40 ปี (Part 1)

May be an image of 5 people and text that says 'KBank 10th March, 8:00 pm @Clubhouse ลงทุนอย่างไร ? ให้เกษียณได้ก่อนอายุ 40 40ปี ปี KBank LiVE KBank Live * หนุ่ย พงศ์สุข กวี ชูกิจเกษม นาวิน อินทรสมบัติ อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง วีระพล บดีรัฐ Join the room'

#สรุปจากClubhouse

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซาร่ามีโอกาสได้เข้าฟัง Clubhouse จัดโดย KBank Live ของกสิกรไทย มีกูรูผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่าน และ Moderator โดยพี่หนุ่ยแบไต๋ หัวข้อนี้ดีมาก ๆ ค่ะ เลยอยากแชร์ให้เพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เข้าฟัง ได้มีความรู้ไปด้วยกัน สำหรับโพสต์นี้ จะขอสรุป Session 90 นาทีแรก ที่เป็นการสัมภาษณ์กูรูทั้ง 4 ท่าน อาจจะยาวหน่อย แต่คัดมาแต่เนื้อให้แล้วล้วน ๆ … อ่านจบแล้วถ้าดีอย่าลืมกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ ^^

สำหรับ Session นี้ มี 4 กูรูมาให้ความรู้ได้แก่

  1. คุณนาวิน อินทรสมบัติ ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (Chief Investment Officer; CIO) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกองทุน และการลงทุนในต่างประเทศ
  2. คุณกวี ชูกิจเกษม ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้น
  3. คุณวีระพล บดีรัฐ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกสิกรไทย กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กูรูด้านการลงทุน เป็นเจ้าของหนังสือการวางแผนเกษียณสำหรับคนมีลูก โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  4. คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง – Certified Financial Partner (CFP) ตำแหน่งกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงิน และดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
    แต่ละท่านก็ได้มาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ภาพรวมเศรษฐกิจ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง เช่นหุ้น และ Crypto currency มาสรุปกันทีละหัวข้อเลยนะคะ
    .

ภาพรวมเศรษฐกิจ

  1. วิกฤตโควิดทำให้หุ้นส่วนใหญ่ในตลาด มีราคาต่ำลง เป็นโอกาสให้นักลงทุน (ที่มีเงินเย็น) ได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีต้นทุนที่ถูกลง
  2. เทรนด์โลกกำลังส่งเสริม Health Care, Clean Energy Product ฉะนั้นเราควรมองหาการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ sector เหล่านี้มีโอกาสเติบโตสูง
  3. เป้าหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก โฟกัสที่การทำให้การจ้างงานกลับมาปกติก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ จะดีตามมา
  4. ทุก ๆ 100 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ Currency และตอนนี้ USD ก็ครบร้อยปีแล้ว การมาของ Bitcoin, Libra และ Crypto Currency อื่น ๆ แต่ละเจ้าก็มองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินตรงนี้จึงสร้าง Coin ขึ้นมา ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่ต้อง convert แบบสกุลเงินต่างประเทศในปัจจุบันที่เราใช้กัน
    .

แนวคิดการลงทุน

  1. ไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือแย่ ในทุก ๆ วิกฤตย่อมมีโอกาส แต่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ทีมองหา
  2. นักลงทุนที่ร่ำรวยบนโลกนี้ก็รวยจากสไตล์การลงทุนที่ตัวเองถนัด เช่น Warren Buffet เป็น VI ส่วน George Soros เป็นสาย Speculator (เก็บกำไรจากการเทรดสั้น) แต่ละคนก็กระจายถือหุ้นไม่ได้ถือแค่หุ้นบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง
  3. กองทุนเป็นที่เรียนรู้ที่แรกสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาในการศึกษาหุ้นเป็นรายตัว
  4. การลงทุนทองคำ, Crypto Currency และของสะสม เช่น รถ กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา รองเท้า ฯลฯ ยังถือเป็นทางเลือกและมีความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับความชอบ ให้แบ่งเงินบางส่วนเท่าที่ยอมรับว่าจะสูญเสียได้ อย่าทุ่มหมดตัว
  5. อย่าทุ่มเงินไว้ในตะกร้าใบเดียว ให้กระจายความเสี่ยง เป็นหลาย ๆ Sector เช่น สุขภาพ อสังหา ท่องเที่ยว ธนาคาร เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของพอร์ต
  6. การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ต้องดูว่าประเทศนั้น ๆ โดดเด่นอุตสาหกรรมไหน เช่นอเมริกา คือเด่นด้านเทคโนโลยี ยุโรปเด่นด้าน Health Care และ จีน เด่นด้าน Retail โดยเฉพาะ Technology Retail
  7. ผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นของคู่กัน ถ้าเข้าใจความเสี่ยง เราจะอดทนถือในกรอบความเสี่ยงนั้น แล้วสุดท้ายมันจะก็กลับตัว หุ้นมีขึ้นมีลง แต่ส่วนใหญ่มักทนไม่ไหว ขายไปก่อนแล้วมันก็กลับตัว ถ้าอดทนได้จริง ๆ จากเงินไม่กี่แสน ก็กลายเป็นเงินสิบกว่าล้านได้
  8. อย่าพยายามตามหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพียง 0.5% ในสินทรัพย์ตัวเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ที่ไหนเงินฝากมากกว่าย้ายเงินไปที่นั่น ซึ่งมันให้ผลต่างแค่นิดเดียว มีเงินล้านนึงก็ได้แค่ต่างกันมากขึ้นแค่ 5000 บาท เราจะไปตามหาแบบนั้นทำไม?
  9. ก่อนลงทุน ควรมองในเรื่องการเก็บเงินก่อน ถ้าเก็บเงินไม่อยู่ อย่าคิดไปถึงเรื่องลงทุน เราต้องมองเรื่องเงินการออมและการใช้จ่ายเป็นเรื่องเดียวกัน หลายคนมีความสุขที่ได้ช้อปปิ้ง 5000 แต่พอตอนเก็บเงินได้น้อยกว่าเพื่อน 5000 กลับเครียด.. ถ้าลดเรื่องสุรุ่ยสุร่ายลงได้ นั่นก็ทำให้เรามีเงินเก็บไปลงทุนมากขึ้น
  10. มองการลงทุนให้เป็นเรื่องสนุก สร้าง Challenge เช่นเปิด 2 พอร์ต แข่งกับกองทุน เพื่อจะได้เป็นการศึกษาแนวคิด บลจ. ทางอ้อม ว่าทำไมมีการปรับพอร์ตไปตัวนั้นตัวนี้ และเลือกลงตามหุ้นตัวหลัก ๆ สุดท้ายจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่า เราก็ได้ความรู้ไปด้วย
  11. ต้องรู้จักกฎ 72 คือ ถ้าลงทุนแบบเอากำไรทบต้นไปเรื่อย ๆ พอร์ตจะโตเป็น 2 เท่าในเวลากี่ปี ให้เอา 72 ตั้ง หารด้วยผลตอบแทน เช่น 10% ต่อปี เอา 72 หาร 10 พอร์ตจะโตเป็น 2 เท่า ใช้เวลา 7.2 ปี
  12. มือใหม่ถ้ายังไม่รู้อะไร ก็ให้กระจายเงินด้วยหลัก 3D คือ
  • Divide : แบ่งเงินเอาไว้ยามฉุกเฉิน
  • Diversify : กระจายการลงทุน ถ้าทุนน้อย ก็ลงกองทุนดีกว่า
  • DCA : มีวินัยในการแบ่งเงินมาลงทุนทุกเดือน เช่น Provident Fund ให้บริษัทแบ่งเงินเดือนเราไปลงทุนทุกเดือนก็เป็นการ DCA อย่างหนึ่ง
    .

แนวคิดการวางแผนเกษียณ

  1. เกษียณ หมายถึง การที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เป็น Passion โดยที่เราไม่ต้องกังวลเรื่องการหารายได้ ซึ่งก็คือ อิสรภาพทางการเงิน
  2. ถ้าอยากเกษียณเร็ว เราหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ได้ แต่ต้องลงทุนอย่างเข้าใจ รู้ความเสี่ยง
  3. อย่าไปวางแผนเกษียณในตอนที่อายุมากแล้ว เพราะนั่นคือการบังคับให้ถูกเกษียณ แต่เราเลือกได้ว่าจะเกษียณตอนไหน
  4. ต้องคำนึงคุณภาพชีวิต “3 อยู่” คือ จะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร และอยู่กับใครตอนที่เกษียณไปแล้ว เพื่อจะดูว่า เราจะใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ ถ้าอยากจะใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบคนเมือง คือกินใช้เดือนละ 30,000 บาท ต่อไปอีก 45 ปี ตั้งแต่อายุ 41-85 เนื่องจากอายุเฉลี่ยคนไทยสูงขึ้นเข้าสู่ aging society อย่างน้อย ๆ ต้องมีเงินเก็บ 22 ล้านแบบรวมเงินเฟ้อปีละ 3% ด้วย
  5. ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ เงินทุน ระยะเวลาเก็บ และ อัตราผลตอบแทน ถ้ามีเวลาเก็บเงิน 20 ปี เริ่มจากปีละ 2 หมื่นบาท เก็บเพิ่มปีละ 5% ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 10% จะทำให้เรามีเงิน 22 ล้านภายในเวลา 20 ปี
    .

แนวคิดการบริหารความเสี่ยง

  1. การลงทุนเพื่อเกษียณ ย่อมมาคู่กับการบริหารความเสี่ยง หรือ Wealth Protection คือ การทำให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณของเราไม่ต่างกับคุณภาพชีวิตตอนที่ยังไม่เกษียณ
  2. ไม่ว่าจะลงทุนเสี่ยงมากหรือน้อย แต่ถ้าเรายังมีภาระ ก็ควรปิดความเสี่ยงแต่ต้น โดยอย่างน้อยควรมีประกันชีวิต และค่อยหาทางเลือกการลงทุน ซึ่ง Unit Link ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
  3. Unit Link ต่างจากประกันชีวิตตรงที่ประกันชีวิตเราเลือกกองทุนไม่ได้ แต่ Unit Link นักลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่สนใจได้ อีกอย่างคือเมื่อเดือดร้อนเราไม่ต้องกู้เสียดอกเบี้ยแบบประกันชีวิต แต่เราสามารถขายหน่วยลงทุนออกมาได้
  4. การแบ่งเงินลงทุนขั้นพื้นฐาน ก็ควรจะมี RMF, SSF, Provident Fund เพราะจะได้ถึง 2 เด้ง คือ ผลตอบแทนหลังเกษียณ และช่วยลดหย่อนภาษีด้วย

สรุป

  1. ลงทุนอาจไม่ทำให้เรารวย แต่เราถ้าเราไม่ลงทุน เราจะจนแน่นอน
  2. ลงทุนไว ลงทุนนาน และใช้หลักดอกเบี้ยทบต้น อย่างมีวินัย จะทำให้พอร์ตเติบโตไว
  3. เป้าหมายในชีวิตสำคัญที่สุด บางทีหา 100 ล้าน ก็ไม่ต่างกับชีวิตคนมีหมื่นล้าน เพราะมีหมื่นล้าน ต่างกันก็แค่มี Private Jet กับเครียดมากขึ้นเพราะกลัวตกจากหลักหมื่น
  4. อย่ารอให้อายุเป็นตัวบังคับให้เราเกษียณ (60 ปี) เราเลือกได้ว่าจะเกษียณตอนไหน..
  5. TTT = ทำทันที อย่ารีรอ :))

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบค่ะ ^^
รอติดตามชมใน Part ต่อไป จะเป็นเรื่องของ Part ถามตอบนะคะ ..

#ซาร่าว่าดี

#ClubHouseReview

#KBankLive

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *